โรค ASF ในหมูคืออะไร? เนื้อหมูติดโรค ASF สามารถรับประทานได้หรือไม่?

โรค ASF ในหมูคืออะไร?
ASF: African Swine Fever หรือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นเชื้อไวรัสที่มีการระบาดในสุกรและเป็นสาเหตุให้เกิดการล้มตายในสุกรเป็นจำนวนมาก
โดยสุกรสามารถติดเชื้อ จากการกินเศษอาหารที่มีเชื้อโรค หรือการสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนมากับคน สิ่งของ รถขนส่งหรือสัตว์พาหะ โดยสุกรที่ติดเชื้อจะมีอาการได้แก่ ไข้สูง จุดเลือดออกตามอวัยวะสำคัญและผิวหนัง อาเจียน และถ่ายเป็นเลือด โดยสุกรจะมีอาการหลังการติดเชื้อประมาณ 3-4 วันและมีอัตราการตายเกือบ 100%
เชื้อไวรัส ASF สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายปี มีความคงทนสูงในสภาพแวดล้อมและตกค้างได้นานหลายปีแม้อยู่ในเนื้อหมูแช่เย็น ปัจจุบันยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกันโรค โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจะเป็นอันตรายโดยตรงต่อสุกรเท่านั้น ไม่มีอันตรายต่อคนที่บริโภคเนื้อสุกร ไม่สามารถก่อโรคหรือติดในคนได้
สุกรติดโรค ASF สามารถรับประทานได้หรือไม่?
เรายังสามารถกินเนื้อหมูที่ติดเชื้อ ASF ได้ตามปกติเนื่องจากเชื้อไม่ติดจากสัตว์สู่คน แต่ถึงอย่างไรนั้นก็ไม่ควรกินเนื้อสุกๆดิบๆ เพราะเชื้อไวรัสนี้จะตายด้วยความร้อน 60 องศาขึ้นไป อย่างน้อย 30 นาที
เพื่อความมั่นใจว่าอาหารที่ทานจะสะอาด ปลอดเชื้อ ดังนั้นจึงควรกินอาหารที่ปรุงสุกทุกครั้ง นอกจากนี้การรับประทานเนื้อหมูที่ปรุกสุก ยังช่วยทำลายเชื้อโรคอื่นๆ ที่อาจติดมาด้วย เช่น โรคพยาธิ, โรคหูดับ หรือโรคที่ทำให้เกิดท้องเสีย เป็นต้น
ส่วนสาเหตุที่มีข่าวว่าห้ามนำเข้าเนื้อสุกรที่ตรวจพบการปนเปื้อนเชื้อ ASF นั้น เพราะกังวลว่าเชื้อไวรัสในเนื้อสุกรจะถูกแพร่กระจายไปสู่สุกรตัวอื่นๆที่ยังไม่ติดโรคได้ จนอาจจะยากต่อการควบคุมโรค
#โรคASF #โรคติดต่อในสุกร #สุกร